การละเล่นพื้นบ้านภาคอีสาน

               เมื่อ พูดถึงเด็กก็ย่อมต้องคู่กับของเล่น...คนโบราณจะนิยมนำสิ่งรอบตัวไม่ว่าจะ เป็น ใบมะพร้าว ก้านมะพร้าว กะลามะพร้าวมาประดิษฐ์เป็นของเล่นต่างๆ มากมาย ซึ่งหลายคนอาจจะพอคุ้นหูกันอยู่บ้างกับของเล่นที่ชื่อ ม้าก้านกล้วย ปืนก้านกล้วย เป็นต้น สำหรับอีสานบ้านเราก็มีภูมิปัญญาทางด้านการละเล่นประจำภาคที่น่าสนใจมาบอก เล่าให้ฟังด้วยเหมือนกัน... 








ตีนเลียน ( จ.ศรีสะเกษ)                ตีนเลียน ทำจากไม้กระดานรูปวงกลมซึ่งมีรัศมีประมาณ 8-12 นิ้ว โดยจะเจาะรูตรงกลาง แล้วใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ 2 เมตรผ่าครึ่งยาว 12 นิ้ว เพื่อเชื่อมกับรูกระดานด้วยการตอกตะปู หรือไม้แข็งเป็นเพลา อาจจะสลักขัดไว้ให้แน่นเพื่อไม่ให้หลุดออกมาก็ได้ ปกติจะนิยมเล่นตีนเลียนในช่วงสงกรานต์หรือประเพณีอื่นๆ เพื่อเป็นการสร้างความสนุกสนาน ในการเล่นนั้น ผู้เล่นจะยืนเรียงกันโดยใช้ไม้ไผ่ด้านปลายวางที่บ่า เมื่อได้ยินสัญญาณบอกให้เริ่มวิ่ง ผู้เล่นจะต้องดันตีนเลียนให้วิ่งออกไป เพื่อให้ถึงเส้นชัยก่อนเป็นคนแรก โดยจะกำหนดระยะทางไว้ที่ 50-100 เมตร 

วิ่งขาโถกเถก (ชัยภูมิ)
               จะใช้ไม้ไผ่กิ่ง 2 ลำ ถ้าไม่มีก็จะใช้วิธีเจาะรูแล้วเอาไม้อื่นมาสอดไว้เพื่อเป็นที่วางเท้า โดยผู้เล่นจะเลือกไม้ไผ่ลำตรง 2 ลำที่มีกิ่งสำหรับวางเท้าเสมอกัน 2 ข้าง ผู้เล่นจะขึ้นไปยืนบนแขนงไม้ เวลาเดินหากยกเท้าข้างไหนมือที่จับลำไม้ไผ่จะยกข้างนั้นตาม ส่วนมากเด็กๆ มักจะเดินแข่งกัน ใครที่เดินได้ไวและไม่ตกจากไม้ถือว่าเป็นผู้ชนะ






มโหรี (นครราชสีมา)
               เป็นการเล่นดนตรีพื้นบ้านของชาวโคราช โดยมีเครื่องดนตรีคือ ซอด้วง ซออู้ ปี่นอก กลองเทิ่ง ฉิ่ง ฉาบ ลักษณะการเล่นจะเป็นการบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีดังที่กล่าวมา จะมีทั้งเพลงไทยเดิม เพลงสมัยใหม่ ส่วน เพลงที่วงมโหรีนิยมบรรเลงคือ เพลงพม่าแห่กระจาด เพลงกันตรึม เป็นต้น ส่วนมากวงมโหรีจะเล่นในงานมงคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานโกนจุก แห่นาค ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีการนิยมบรรเลงในงานบวชจำนวนมาก

โค้งตีนเกวียน หรือระวงตีนเกวียน (ยโสธร)
               ในการเล่นจะมีคนยืนสลับกับคนนั่งเป็นวงกลมคล้ายล้อเกวียน พวกที่นั่งจะเอาเท้ายันกันไว้ตรงกลางคล้ายดุมเกวียนและเอามือจับคนที่ยืน โดยจะเดินไปรอบๆ เป็นวงกลม กลุ่มนั่งจะนั่งให้ก้นลอยพ้นพื้นประมาณหนึ่ง จากนั้นจะหมุนตามโดยใช้เท้าที่ยันกันไว้เป็นศูนย์กลาง หากกลุ่มที่นั่งทำมือหลุดก็จะถือว่าเป็นฝ่ายแพ้ ต้องเปลี่ยนให้คนที่ยืนมาเป็นฝ่ายนั่งแล้วค่อยเล่นต่อ การเล่นโค้งตีนเกวียนจะนิยมเล่นกันเกือบทุกโอกาสโดยเฉพาะในช่วงที่มีเทศกาล ตรุษสงกรานต์ บุญข้าวสาก เป็นต้น

 หนังตะลุงบ้านผึ้งเพียมาตร (ศรีสะเกษ)
               มีตัวหนังเป็นรูปพระราม ตัวทหาร ตัวตลกที่มีชื่อและลักษณะท่าทางเหมือนคนอีสาน เช่น ปลัดตื้อ บักป่อง บักแหมบ เวทีที่ใช้แสดงจะอยู่ในระดับสายตา ส่วนจอจะสูงจากเวทีประมาณ 1 เมตร ขนาดเวทีกว้างประมาณ 1.8 เมตร ยาว 5.3 เมตรใช้ตะเกียงโป๊ะ (เจ้าพายุ) เป็นตัวให้แสงไฟส่องจอ ต่อมาภายหลังเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟขนาด 60-90 แรงเทียน ในการเล่นนั้นผู้เชิดและผู้พากย์เป็นคนเดียวกัน มีนักดนตรี 3 คน เล่นกลอง แคน ระนาดเอก ปัจจุบันมีการพัฒนาตามความนิยมของผู้ชม คือ ใช้ทำนองหมอลำซิ่ง เพื่อความสนุกสนาน จะนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามออกบวชจนกระทั่งพระรามกลับมาครองเมือง

การตีคลี (หนองคาย)
               เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวอีสาน นิยมเล่นตามชนบทโดยมีหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ การตีคลีในสมัยโบราณมีด้วยกัน 3 ประเภทคือคลีช้าง ผู้เล่นจะต้องขี่ช้างตี นิยมเล่นกันเป็นจำนวนมากในสมัยอยุธยาคลีม้า ผู้เล่นจะต้องขี่ม้าตี นิยมเล่นกันมากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์คลีคน ผู้เล่นจะต้องเดินหรือวิ่งตี จะมีทั้งแบบตีคลีธรรมดา และตีคลีไฟ หรือการเอาลูกเผาไฟให้ลุกท่วมแล้วค่อยนำมาตี นิยมเล่นกันมากในชนบทอีสาน ไม่ว่าจะเป็นหนองคาย อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด เป็นต้น
               อุปกรณ์ในการเล่นจะประกอบด้วยไม้คลี (ไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 เมตร งอนปลายไม้) ลูกคลี ทำจากไม้ทองหลางหรือขนุนกลึงให้กลมขนาดเท่ามะนาว โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเล่นในช่วงฤดูหนาวเพื่อเป็นการออกกำลังกายก่อนลงอาบน้ำ การตีคลีจะนิยมเล่นในเวลากลางคืน เพราะเมื่อเราเอาลูกคลีเผาไฟให้ลุกแดง เมื่อตีลูกคลีก็จะเป็นเปลวไฟปลิวไปในสนาม สวยงามไปอีกแบบ

เดินกุบกับ (อุดรธานี)
               เป็นการละเล่นที่ใช้ของประดิษฐ์จากวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นที่มีตาม ธรรมชาติ การเดินกุบกับเป็นการสวมรองเท้าต่อขาให้สูง โดยคาดว่าน่าจะมาจากการเดินเพื่อข้ามที่ชื้นแฉะ หรือพงหนามที่ไม่รก โดยจะนำกะลามะพร้าวมาผ่าครึ่งวางคว่ำลงกับพื้น จากนั้นเจาะรูที่ก้นกะลาทั้ง 2 ข้าง นำเชือกเหนียวมา 1 เส้นความยาวพอประมาณที่จะใช้มือดึงขณะที่ยืนได้ ปลายเชือกแต่ละข้างร้อยรูกะลาที่เจาะไว้ ซึ่งอาจจะใช้ตะปูหรือไม้ที่แข็งแรงผูกปลายเชือกที่ร้อยกะลาไม่ให้หลุดออก จากรูกะลา เวลาเล่นผู้เล่นจะใช้เท้าเหยียบลงบนกะลาทั้ง 2 ข้าง ดึงเชือกให้ตึงระหว่างง่ามหัวแม่เท้า เวลาเดินให้ดึงเชือกให้ตึงกะลาจะได้ติดเท้าไปด้วย เมื่อกะลากระทบพื้นจะมีเสียงดัง “กุบกับ” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อนั่นเอง การละเล่นกุบกับนี้จะไม่ค่อยผาดโผนอันตรายสักเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้เด็กผู้หญิงจึงนิยมเล่นกุบกับมากกว่าเด็กผู้ชาย
               การละเล่นพื้นบ้านของอีสานบ้านเรานี้ มีข้อดีหลายอย่าง ทั้งช่วยสร้างความสามัคคี ความสนุกสนาน ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการนำสิ่งใกล้ตัวมาประดิษฐ์เป็นของเล่น ซึ่งทำให้ประหยัดสตังค์ในกระเป๋า และแถมอุปกรณ์ที่นำมาเป็นเครื่องเล่นยังไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีก ด้วย อึ้ม...ว่างๆ ต้องลองทำเล่นหน่อยแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น